เชื่อว่าหนึ่งในรูปแบบการลงทุนที่คนยุคใหม่ให้ความสนใจมากยิ่งขึ้นก็คงหนีไม่พ้น คริปโตเคอร์เรนซี จนกลายเป็นกระแส ที่หลายคนคิดว่าหากไม่ลงทุนในคลิปโตก็ถือว่าตกเทรนด์เลยทีเดียว แม้จะได้ยินคำว่าคริปโต กันมามากมายแต่เชื่อว่า นักลงทุนมือใหม่หลายคนที่เพิ่งที่กำลังจะโดดเข้ามาในวงการนี้ อาจจะยังไม่เข้าใจรายละเอียด ว่า คริปโต คือ อะไร ทำงานอย่างไร รวมไปถึงมีความน่าสนใจยังไงบ้าง ในบทความนี้เราจึงสรุปมาให้อ่านแบบง่าย ๆ แค่ 5 นาทีก็รู้เรื่อง
ทำความรู้จัก คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)

คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นสกุลเงินเข้ารหัส ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เสมือนเป็นเงินจริง มีมูลค่าของตัวเองแต่ไม่สามารถจับต้องได้ จึงจัดเป็นทรัพย์สินดิจิทัล ไม่นับเป็นสกุลเงิน แต่ถูกเรียกกันสั้น ๆ ว่า เหรียญ ซึ่งเราสามารถนำมาใช้ในการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนหรือสะสมได้ ซึ่งมูลค่าของคริปโต จะแปรผันตามอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของตลาด หากเหรียญนั้นมีอุปสงค์หรือความต้องการสูง ราคาของเหรียญนั้นก็จะดีดตัวสูงขึ้น อุปสงค์ลดลง ราคาก็ต่ำลง ยิ่งเหรียญที่มีจำกัดยิ่งทำให้มีความต้องการสูง
การทำงานของ คริปโตเคอร์เรนซี
การทำงานของ คริปโตเคอร์เรนซี จะถูกบันทึกในระบบที่เรียกว่า บล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งจะช่วยบันทึกข้อมูลด้วยการเก็บรหัส โดยสามารถระบุได้ว่าว่าใครเป็นเจ้าของเหรียญสกุลเงินใดบ้าง โดยระบบ บล็อกเชน โดยเก็บข้อมูลลงใน บล็อก (Blocks) และสามารถส่งสัญญาณแจ้งข้อมูลดังกล่าวเป็นเครือข่ายให้หน่วยอื่น ๆ ในระบบรับรู้ได้ เป็นลักษณะเหมือนโซ่ (Chain) ต่อ ๆ กันไปนั่นเอง
ซึ่งระบบจะมีการตรวจสอบให้ข้อมูลทุกเครื่องตรงกันอยู่เสมอ ทำให้ยากที่จะถูกขโมยหรือปรับเปลี่ยน มีเอกลักษณ์และมูลค่าของตัวเอง ซึ่งการเทรดคริปโตจะมีราคากลางซื้อขายผ่านตลาดโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างสถาบันการเงินหรือเรียกง่าย ๆ ว่าระบบ กระจายศูนย์ (Decentralized) ดังนั้น ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโต จึงมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยสูง
ประเภทเหรียญ คริปโตเคอร์เรนซี
หลัก ๆ สามารถแบ่งเหรียญคริปโต ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. กลุ่มรักษามูลค่า
สำหรับ กลุ่มรักษามูลค่า (Store of Value) เป็นเหรียญที่มีจำนวนจำกัด สามารถรักษามูลค่าได้ในอนาคต มีโอกาสน้อยที่จะสูญเสียกำลังซื้อเหมือนกับเงินจริงที่ผันผวนได้จากนโยบายการเงินของธนาคารกลาง
ตัวอย่าง Bitcoin (BTC), Litecoin (LTC), Bitcoin Cash (BCH) เป็นต้น
2. กลุ่ม Smart Contract
เป็นเหรียญกลุ่มที่ใช้ระบบ Smart Contract ซึ่งก็คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกเขียนลงไปควบคุมการทำงานของชุดข้อมูลบนระบบบล็อกเชน โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ซึ่งจะทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ ต่อไปได้
ตัวอย่าง Ethereum (ETH), Cardano (ADA), Solana (SOL) และ Kusama (KSM) เป็นต้น
3. กลุ่ม Stablecoin
เป็นกลุ่มเหรียญ ที่มีความสามารถในการคงมูลค่า กลุ่มนี้ถูกสร้างมาเพื่อทำให้มูลค่าของเหรียญมีเสถียรภาพมากขึ้น ด้วยการอ้างอิงกับสกุลเงินหรือสินทรัพย์หลักของโลก ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงินมากขึ้น
ตัวอย่าง Tether (USDT), USD Coin (USDC), Indonesia Rupiah Token (IDRT) เป็นต้น
4. กลุ่ม Meme Coin
เป็นกลุ่มเหรียญ ที่ถูกสร้างขึ้นจากกระแสความสนุกบนโลกออนไลน์ โดยมักสร้างมาจากมีม (Meme) อย่าง Dogecoin (DOGE) ที่ถูกสร้างขึ้นแบบสนุก ๆ แต่สามารถสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล ทั้งนั้นราคาของเหรียญในกลุ่มมีมค่อนข้างผันผวน ควรระวังก่อนลงทุน
ตัวอย่าง Shiba (SHIB), Dogelon Mars (ELON), Dogs of Elon (DOE), Samoyedcoin (SAMO) เป็นต้น
คริปโตเคอร์เรนซี น่าสนใจยังไง
- ถ้าจับจังหวะการลงทุนได้ ก็สามารถเก็งกำไรได้ดีทั้งในระยะยาวและระยะสั้น
- ลงทุนง่าย เริ่มลงทุนได้แม้มีต้นทุนน้อย ซื้อหน่วยย่อยเหรียญได้
- ตลาดคริปโตไม่มีวันหยุด สามารถซื้อ – ขายได้ 24 ชม. มีสภาพคล่องสูง
- มีตัวเลือกแพลตฟอร์มให้เลือกใช้ในการเทรดหลากหลายเจ้า
- โปร่งใส สะดวกสบาย ทำการซื้อ ขาย ได้รวดเร็วในแพลตฟอร์มที่รองรับ
ทำรายได้จาก คริปโตเคอร์เรนซี

1. การเก็งกำไรในระยะยาว
เป็นการซื้อเพื่อเป้าหมายเก็งกำไรในระยะยาว เน้นถือเพื่อเอามูลค่าในอนาคต ไม่ต้องสนใจสภาพเศรษฐกิจ หรือข้อมูลทางเทคนิค เพื่อสังเกตการขึ้น – ลงของราคา การลงทุนแบบนี้มักลงทุนในเหรียญ Stablecoin หรือเหรียญที่มีการรักษามูลค่า ที่มีแนวโน้มจะเติบโตในระยะยาว
2. การทำ Day Trade
เป็นการลงทุนเพื่อซื้อ – ขายในระยะสั้นหรือรายวัน ซื้อถูกไป ขายแพง โดยการเทรดรายวัน ต้องมีความเข้าใจถึงเทคโนโลยี และที่มาของเหรียญแต่ละเหรียญ รวมถึงมีความสามารถในการจับจังหวะการลงทุนที่ดีได้ อาจจะต้องมีเวลาในการเฝ้าดูกราฟสักนิดเพื่อให้เข้าออกทันเวลา
3. การขุดเหรียญ
เป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการยืนยันการทำธุรกรรมของคนในเครือข่ายบล็อกเชน นั้นๆ ซึ่งหากคุณยืนยันธุรกรรมบนบล็อกเชนของเหรียญอะไร ก็จะได้เหรียญนั้นมาครอบครอง ซึ่งในรูปแบบการทำกำไรแบบนี้ต้องมีต้นทุนในการหาทั้งระบบซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ที่มีความแรงสูงมาใช้
4. การทำ Yield Farming
เป็นการนำเหรียญไปฝากเป็นหลักประกันให้กับแพลตฟอร์ม DeFi โดยการให้สินทรัพย์ที่เราฝากได้ทำงานและสร้างผลตอบแทนสูงสุดเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับแพลตฟอร์มเหล่านั้น
หลังจากอ่านบทความนี้เชื่อว่าหลายคนคงพอมองเห็นไอเดียโดยรวมของคริปโตมากขึ้นว่า คริปโต คือ อะไร และหากสนใจที่จะเริ่มเทรดคริปโต เราอยากให้ทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่เรารับได้ด้วย เพราะการลงทุนประเภทนี้มีความผันผวนสูงมาก หากไม่มีความรู้ความเข้าหรือเวลาที่มากพอ มีโอกาสสูงที่จะลงทุนแล้วล้มเหลว หากไม่อยากเป็นหนึ่งในนั้น ลองหาเวลาให้ได้ศึกษาตัวเองและแนะนำให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้ดีก่อนเริ่มต้นลงทุนจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า