ไขข้อข้องใจ ภาษีคริปโต คืออะไร มีวิธีคำนวณยังไงบ้าง ?

นักเทรดพร้อมยื่นภาษีกันหรือยัง ? เพราะไม่เมื่อนานมานี่ เป็นข่าวฮือฮาในวงการคริปโต ถึงเรื่องการเก็บ ภาษีคริปโต ของกรมสรรพากรให้กรอกข้อมูล โดยระบุว่า สินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไร หรือมีผลตอบแทนจากส่วนนี้จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโตจะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจเรื่องนี้ วันนี้เราจะมาอธิบายถึง กำไรจากการเทรด เงินปันผล หรือผลประโยชน์จากกว่าถือครองต้องเสียภาษีด้วย ว่าแต่จะเสียภาษียังไง เท่าไหร่ เงินได้ประเภทไหน มาดูกัน

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ คริปโต ที่นี่

ภาษีคริปโต
เสียภาษีคริปโต

ภาษีคริปโต คืออะไร ทำไมต้องจ่าย ?

กรมสรรพากร ได้ให้เหตุผล 3 ประการในการเรียกเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีจากบรรดานักเทรดทั้งหลาย ไว้ว่า

  1. ตามธรรมชาติของคริปโต การขายคริปโตที่ได้มาจากการขุด ก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะสามารถนำเงินได้ดังกล่าวมาหักค่าใช้จ่ายจริง อันเป็นต้นทุนที่ใช้ในการขุดได้ ทำให้ผู้ที่ได้รับเงินได้ประเภทนี้ในช่วงรอบปีภาษี จากการถือครองคริปโต จึงต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้

2. เนื่องจากราคาของสินทรัพย์ทางการเงินหลาย ๆ ประเภท มีการเคลื่อนไหวของราคาอย่างสม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของตลาดและปัจจัยแวดล้อม ทำให้หลายๆครั้ง ผู้ที่ถือครองคริปโตได้รับกำไรจากการขายหรือการโอนสกุลเงินดังกล่าวด้วย ซึ่งตามบทบัญญัติของประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ฌ) เงินจำนวนนี้เฉพาะส่วนที่สามารถตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน อันคำนวณได้จากการนำราคาขายหักลบด้วยต้นทุนที่ตนซื้อมา จัดว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่ผู้ถือครองจำเป็นต้องเสียภาษีตามหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในรัฐธรรมนูญ

3. ขึ้นชื่อว่าเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน การนำไปหาประโยชน์โดยมุ่งหวังผลตอบแทนที่มากกว่าการถือไว้เพื่อเก็งกำไร เป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในหมู่นักลงทุน ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผลตอบแทนที่ได้รับมานี้ จัดว่าเป็นเงินได้พึงประมาณตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยเหตุนี้ การนำคริปโต ซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางการเงินรูปแบบหนึ่ง ไปหาประโยชน์ จึงจำเป็นต้องเสียภาษีด้วย หากการกระทำนั้น ก่อให้เกิดผลตอบแทนตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้

จากเหตุผลทั้ง 3 ประการข้างต้น ทำให้บุคคลผู้ถือครองคริปโทเคอร์เรนซีที่มีเงินได้ตรงตามเงื่อนไขมาตรา 40 (4) (ฌ) และมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จำเป็นต้องเสียภาษีคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในฐานะประชาชนคนไทย

สินทรัพย์แบบไหนถึงต้องเสียภาษีคริปโตบ้าง ?

สินทรัพย์ดิจิทัล

ในนิยามของ “ภาษีคริปโต” ไม่ใช่สินทรัพย์เพียงอย่างเดียวที่ทางกรมสรรพากรให้ความสนใจเรียกเก็บภาษี ยังคงมี “โทเคนดิจิทัล” สินทรัพย์ทางการเงินอีกรูปแบบหนึ่ง ถูกเพ่งเล็งให้เข้าร่วมการพิจารณาสำหรับการจ่ายภาษีด้วย ซึ่งตามพระราชกำหนด การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้บัญญัตินิยามของสินทรัพย์ ดังนี้

  1. คริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งหมายถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นบนระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงหน่วยข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

2. โทเคนดิจิทัล ซึ่งหมายถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบ หรือเครือข่าย อิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ และ กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดใน ข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

คำนวณเสีย ภาษีคริปโต ยังไง ?

1. หากเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วได้กำไรจากการเทรด จะโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากกำไรส่วนต่าง

เช่น ได้กำไร 150,000 บาท จากการซื้อบิตคอยน์ หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เท่ากับหักภาษี 22,500 บาท จะเหลือกำไรที่ได้รับ 127,500 บาท

2. หากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือไว้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ หรือส่วนแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15%

เช่น ได้เงินปันผล 20,000 บาท หักภาษี 3,000 บาท จะเหลือเงินปันผลที่ได้รับ 17,000 บาท

โดยการคำนวณให้คิดเฉพาะรายการที่มีกำไร ไม่สามารถเอาครั้งที่ขาดทุนมาหักลบกันได้ แม้เงินจะยังคงอยู่ในแพลตฟอร์มเทรดก็ตาม ถ้าขายและเปลี่ยนเป็นเงินบาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นกำไร ไม่จำเป็นต้องยื่นหลักฐานอะไร แต่ให้เก็บหลักฐาน เช่น แคปรูปหน้าจอ หรือ Statement ไว้

นอกจากประเด็นที่ได้กล่าวไปข้างต้น “ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี” ยังคงมีประเด็นอื่น ๆ ให้น่าติดตาม ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณต้นทุนคริปโทเคอร์เรนซี หรือแม้แต่รายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ เพื่อให้เราเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน

อ่านเพิ่มเติม เกี่ยวกับคำนวณภาษีคริปโต ที่นี่