หากติดตามข่าวการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อเสียงของ FED กับความสามารถที่เพียงแค่คำประกาศสั้น ๆ ก็สะเทือนตลาดได้อย่างพร้อมเพรียงกันทั่วทั้งโลก วันนี้เราจึงขอนำพาทุกท่านไปรู้จักกับตัวตนของ FEDว่าคือ ใคร ทำหน้าที่อะไร และสำคัญยังไงต่อเศรษฐกิจ
ทำความรู้จัก FED และประวัติความเป็นมา

FED (Federal Reserve System) คือ ระบบธนาคารกลางสหรัฐ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2456 โดยในช่วงแรกมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการเงินจากส่วนกลางเพื่อบรรเทาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้น หลังจากผ่านวิกฤติร้ายแรงหลายครั้ง
ประกอบไปด้วย 3 หน่วยงานหลักคือ
- ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve Banks)
- สภาผู้ว่าการธนาคารกลาง (Board Of Governors)
- คณะกรรมการตลาดเสรีกลาง (Federal Open Market Committee : FOMC)
ซึ่งนักลงทุนมักจะให้ความสนใจต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ FOMC เนื่องจากเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการกำหนดและตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงิน ทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ย และปริมาณการซื้อสินทรัพย์ FOMC จะมีการประชุมเป็นประจำและแถลงผลการประชุมและการคาดการณ์เศรษฐกิจต่อประชาชน
บทบาทของธนาคารกลางสหรัฐ คือ อะไร ส่งผลยังไงต่อทั่วโลก
ปัจจุบัน ธนาคารกลางสหรัฐ ขยายบทบาท โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ 5 อย่าง ได้แก่
- ดำเนินนโยบายการเงินของประเทศโดยมุ่งให้มีอิทธิพลต่อสภาพเงินและสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน ไปพร้อมกับการกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
- กำกับดูแลธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในระบบธนาคารและการเงินของประเทศ รักษาสมดุลของตลาดการเงินภายในประเทศ ไม่ให้เกิดการสั่นคลอนจากการแทรกแซงจนเสถียรภาพของตลาด
- รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นในตลาดการเงิน โดยการพยายามลดความเสี่ยงดังกล่าวผ่านการติดตามและมีส่วนร่วมอยู่เสมอทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาดโลก
- ให้บริการทางการเงินแก่รัฐบาลและสถาบันการเงิน โดยมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานด้านการดูแลระบบการชำระเงินของประเทศ
- ส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค แก้ปัญหาและสนองความต้องการของภาคประชาชนโดยตรง

ธนาคารกลางสหรัฐ ส่งผลยังไงกับเศรษฐกิจระดับโลก
ธนาคารกลางจะช่วยควบคุมอัตราเงินเฟ้อและอัตราการจ้างงาน ผ่านนโยบายการเงิน 2 ประเภท คือ
- นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย คือ นโยบายการเงินที่ธนาคารกลางต้องการให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวเมื่อเศรษฐกิจซบเซาหรือต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายหรือ การซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือเอกชน เพื่อฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
- นโยบายการเงินแบบตึงตัว คือ นโยบายการเงินที่ธนาคารกลางใช้เพื่อชะลอการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายจะตรงกันข้ามกับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เช่น การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การขายพันธบัตรรัฐบาลหรือเอกชน
จะเห็นได้ว่านโยบายการเงินต้องใช้ความรอบคอบในการออกนโยบาย เพราะวัตถุประสงค์ในการใช้นโยบายทางการเงินคือการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่ให้หดตัวหรือขยายตัวจนเกินไป เพราะเกิดผลเสียได้ทั้งสองทาง นโยบายการเงินจึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ
ในมุมของนักลงทุนอาจไม่จำเป็นต้องรู้ถึงรายละเอียดแบบลึกซึ้งในการดำเนินนโยบายการเงินของ ธนาคารกลางสหรัฐ แต่ควรรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยหรือการเพิ่มเงินเข้าระบบนั้นจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างไร เพราะเงินเฟ้อหรือเงินฝืดจะส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของเราโดยตรง