เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะสาว ๆ ที่รักในการชอปออนไลน์จะต้องเคยเห็นแบรนด์ที่ชื่อว่า SHEIN อยู่ในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ผ่านตากันมาบ้าง โดย SHEIN เป็นแพลตฟอร์มฝากแฟชั่นจากประเทศจีนที่เข้ามาตีตลาดเสื้อผ้าอีคอมเมิร์ซทั้งทั่วโลกและในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2018
และด้วยการตลาดในตลาดค้าปลีกอีคอมเมิร์ซที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย มีแบบให้เลือกมากมาย ในราคาย่อมเยา บนสินค้าที่มีการจับจ่ายใช้สอยในทุกยุคสมัยอย่างเสื้อผ้า เครื่องประดับ กระเป๋า โดยมีกลยุทธ์สำคัญ คือ การเจาะกลุ่มคนรัก Fast Fashion ซี่งเป็นแฟชั่นตามกระแสแบบ “มาไวไปไว” ทำให้ SHEIN สามารถทำกอบโกยเงินจากการทำธุรกิจไปได้อย่างมหาศาล โดยมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันธุรกิจของ SHEIN นับว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการแฟชั่นค้าปลีกรายย่อย โดยมีการขยายแพลตฟอร์มครอบคลุมกว่า 200 ประเทศทั่วโลก และมีแนวโน้มสามารถทำรายได้ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย อัตราเติบโตของธุรกิจกว่า 100% ตั้งแต่ปี 2013
ถึงแม้ SHEIN จะเป็นแพลตฟอร์มที่ครองใจคนในหลายประเทศ แต่ในความจริง SHEIN ก็ไม่ได้ยืนอยู่บนสุดของอีคอมเมิร์ซแฟชั่นได้แบบผู้ชนะซะทีเดียว เพราะเริ่มมีการถกเถียงถึงด้านมืดของ SHEIN เสื้อผ้า ในเรื่องของไอเดียในการผลิตผลงานและจรรยาบรรณของผู้ผลิตต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในวงการแฟชั่น ซึ่งวันนี้เราจะพาทุกท่านมาเจาะลึกเรื่องนี้กัน
ด้านมืดภายใต้ความสำเร็จของ SHEIN

SHEIN เสื้อผ้า บนปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์
ด้วยความที่ SHEIN เป็นอุตสาหกรรมแบบ Fast Fashion เมื่อมีกระแสแฟชั่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา SHEIN ก็จะมีการนำการดีไซน์นั้นมาใช้อย่างรวดเร็วและโจ่งแจ้ง หลายครั้ง SHEIN ถูกถกเถียงกันถึงประเด็นการขโมยการออกแบบเสื้อผ้าของดีไซเนอร์คนอื่น ทั้งรายใหญ่และรายย่อยทั่วโลก มาขายบนแพลตฟอร์มของตัวเอง
ซึ่งปัญหานี้ก็ได้รับการร้องเรียนจากดีไซเนอร์ทั้งหลายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น ในกรณีของ Tiina Menzel (@therese_nothing บน Instagram) ที่การออกแบบเธอถูก SHEIN นำไปใช้ถึง 6 ครั้งในเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี ซึ่งเมื่อมีการติดต่อไปอ้างสิทธิ์ เธอกล่าวว่า SHEIN ให้เงินชดเชยให้เธอเพียงเล็กน้อยเพื่อขอสิทธิ์ในการใช้ผลงานจากเธอ ซึ่งก็มีนักออกแบบรายย่อยในไทยที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากกระทำเช่นเดียวกันนี้ของ SHEIN กันไม่น้อย จนทำให้เกิดดราม่าร้อน ๆ ภายใต้ #แบนSHEIN กันอยู่พักใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์แฟชั่นเจ้าใหญ่ที่โดนลอกเลียนแบบอย่าง Zara และ Dr.Martens ทั้งในแง่ของดีไซน์และลวดลายบนเสื้อผ้าที่เหมือนกันอย่างชัดเจน จนทำให้กลายเป็นประเด็นในโลกออนไลน์ทั่วโลกที่มองว่ามีความตั้งใจที่จะละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาของแบรนด์อื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด
SHEIN เสื้อผ้า บนปัญหาสิ่งแวดล้อม
เช่นเดียวกับบริษัท Fast Fashion อื่น ๆ เสื้อผ้าที่ผลิตโดย SHEIN มักจะวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีคุณภาพต่ำและไม่มีความคงทน แต่ยังครองใจวัยรุ่นทั่วโลกด้วยราคาแสนถูก ซึ่งการที่ราคาถูกก็หมายความว่าชิ้นส่วนหลายชิ้นของพวกเขาทำด้วยผ้าใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์และไนลอน ซึ่งย่อยยาก
ที่แย่ไปกว่านั้น SHEIN ได้ผลักดันการออกแบบให้รวดเร็วกว่าผู้ค้าปลีกรายอื่น ๆ โดย SHEIN เปิดเผยว่าบริษัทได้มีการออกแบบใหม่ “700–1,000 สไตล์ทุกวัน” เมื่อรวมกับราคาที่ต่ำมาก ทำให้ SHEIN สามารถโน้มน้าวผู้ซื้อให้ซื้อมากขึ้นและซื้อบ่อยขึ้น กลายเป็นปัญหาขยะสิ่งทอที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกแย่ลง รวมถึงการย้อมผ้าที่ก่อให้เกิดมลพิษในแม่น้ำอีกด้วย
นอกจากนี้ SHEIN ยังขาดความโปร่งใสในเรื่องซัพพลายเชน แม้จะอ้างว่าใช้วิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวัสดุที่มาจากแหล่งที่ยั่งยืน อย่างวัสดุที่รีไซเคิลได้ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ออกมาเปิดเผยว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริง
SHEIN เสื้อผ้า บนปัญหาการใช้แรงงาน
ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันอย่างมากในโลกออนไลน์เกี่ยวกับปัญหาการใช้แรงงานและสวัสดิภาพในการทำงานในบริษัทของ SHEIN ทั้งในเรื่องของค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าแรงงานขั้นต่ำ รวมถึงการจ้างแรงงานเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
ตัวอย่างเช่น ในบังกลาเทศซึ่งมีโรงงาน Fast Fashion จำนวนมาก อายุแรงงานตามกำหนดคือ 14 ปี ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าหลังจากการระบาดของโควิด – 19 ทำให้ที่เด็กในบังกลาเทศอีกหลายล้านคนถูกผลักดันเข้าสู่การใช้แรงงานเด็ก ในอุตสาหกรรมแฟชั่นเหล่านี้ และหนึ่งในนั้นคือ SHEIN
เวลาต่อมา SHEIN ได้ออกมาปฏิเสธถึงเรื่องการจ้างแรงงานเด็กและShein ยังอ้างว่าให้พนักงานมี “ค่าครองชีพ” ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงมีสวัสดิการพื้นฐานให้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยถึงข้อมูลนี้แบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก SHEIN เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เราพูดถึงไปข้างต้น

แม้จะมีข้อถกเถียงออกมาก็อย่างมากมายจะปฏิเสธไม่ได้ว่า SHEIN ก็ยังคงเป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นที่วัยรุ่นนิยมกันอย่างทั่วโลก ด้วยราคาที่ถูกแสนถูกและตามเทรนด์อย่างเท่าทัน ทำให้หลายคนเลือกที่จะมองข้ามปัญหาต่าง ๆ ของบริษัทนี้ไป
ทั้งนี้ ในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นเลือกที่จะไม่มองข้ามและยอมรับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ด้วยความที่ SHEIN เองก็ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจและซัพพลายเชนทำให้ SHEIN เป็นหนึ่งในแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นที่มีดัชนีชี้วัดความโปร่งใสด้านการเปิดเผยข้อมูลสิทธิมนุษยชนและนโยบายสิ่งแวดล้อม (Fashion Transparency Index) เป็น 0 คะแนน
อย่างไรก็ตามการเลือกบริโภคเป็นสิทธิของผู้บริโภค ข้อมูลทั้งหมดที่เรานำมาฝากในวันนี้เป็นเพียงอีกแง่มุมหนึ่งของแบรนด์ชื่อดังระดับโลกที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ เราจึงอยากให้ทุกท่านได้รับทราบข้อมูลเอาไว้ประกอบการตัดสินใจในการซื้อสินค้าต่าง ๆ เพียงเท่านั้น
ดูวิดีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับขายของออนไลน์ : https://www.youtube.com/watch?v=Yj9Bg-GmNy8